วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ความสำคัญของกฎหมาย



ความสำคัญของกฎหมายและความจำเป็นที่ต้องรู้กฎหมาย
ด้วยสัญชาติญาณของมนุษย์ย่อมชอบที่จะกระทำสิ่งใด ๆ ตามใจชอบเพราะทุกคนรักความอิสระ แต่ถ้าทุกคนทำอะไรตามใจชอบจนเกินไป ก็อาจเป็นการรบกวนและก่อความเดือดร้อนระหว่างกันได้ ดังนั้นการกำหนดขอบเขตความอิสระในการทำสิ่งใด ๆ จึงต้องมีการจำกัดลงด้วยมาตรฐานอันเดียวกันที่จะใช้บังคับเป็นการทั่วไปแก่ทุกคน ในลักษณะของกฎเกณฑ์และข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งจะกำหนดวิถีทางปฏิบัติภารกิจของมนุษย์ประจำวันนับตั้งแต่เกิดจนตายหากผู้ใดกระทำเกินเลยขอบเขตที่กำหนดไว้แล้ว ผู้นั้นก็ย่อมจะต้องได้รับผลร้ายจากสังคมเป็นการตอบแทน กฎเกณฑ์และข้อบังคับเหล่านี้ได้วิวัฒนาการตามภาวะของสังคมจนกลายเป็นกฎหมาย ซึ่งจะได้วิวัฒนาการต่อไป ดังนั้นเราจึงไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าชีวิตของคนเรานี้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้กฎหมายและเกี่ยวข้องกับกฎหมาย
โดยเฉพาะในปัจจุบัน เราจะยิ่งเห็นได้ชัดว่ากฎหมายเกี่ยวพันกับชีวิตเรามาก ตั้งแต่เราเกิด กฎหมายก็กำหนดว่า เจ้าบ้านหรือมารดาต้องไปแจ้งเกิดเพื่อขอรับสูติบัตร เมื่อมีอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์ก็ต้องทำบัตรประจำตัวประชาชน จะสมรสก็ต้องจดทะเบียนสมรส ระหว่างเป็นสามีภรรยากัน การจัดการทรัพย์สินก็ตกอยู่ภายใต้กฎหมาย เมื่อเสียชีวิตลงก็ต้องแจ้งเพื่อขอรับใบมรณบัตร นอกจากนี้ในชีวิตประจำวันก็ยังมีกรณีเกี่ยวพันกับกฎหมาย เช่น ตื่นขึ้นมารต้องออกไปจ่ายตลาดซื้อหาอาหารบริโภคก็ต้องใช้กฎหมาย เช่น กฎหมายว่าด้วยซื้อขาย เมื่อไปทำงานเป็นลูกจ้างเขาก็ต้องใช้กฎหมายจ้างแรงงาน และกฎหมายแรงงาน จึงเห็นได้ว่าในแต่ละวันชีวิตของเราต้องผูกพันกับกฎหมายตลอดเวลา
นอกจากนี้ในชีวิตของเราส่วนที่ต้องเกี่ยวข้องกับชาติบ้านเมือง จะเห็นได้ว่าประชาชนทุกคนในชาติย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้ ซึ่งสิทธิต่าง ๆ นี้เราก็ได้มากมายหลายประการตามที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ แต่ทั้งนี้หน้าที่ของประชาชนต่อชาติก็ย่อมมีขึ้น จะต้องปฏิบัติไปให้ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น หน้าที่ในการเสียภาษีอากร หน้าที่สำหรับชายที่จะต้องเข้ารับราชการทหาร สิ่งเห่านี้ล้วนแล้วก็เป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติไปตามกฎหมายทั้งสิ้น
ด้วยเหตุนี้การเรียนรู้กฎหมายจึงมีความจำเป็นแก่ประชาชนเพราะเป็นการให้ประโยชน์แก่ประชาชนเองโดยตรง และในขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างความเป็นระเบียบ และความสงบเรียบร้อยในสังคมขึ้น เพราะถ้าหากประชาชนขาดความรู้ ความเข้าทางด้านกฎหมายก็มักจะเกิดปัญหาขึ้น อันเป็นข้อขัดแย้งระหว่างประชาชนด้วยกัน และประชาชนต่อข้าราชการผู้ปฏิบัติการไปตามหน้าที่ ซึ่งปรากฏอยู่เสมอว่าข้อขัดแย้งเหล่านี้เกิดจากความไม่เข้าใจกันอันเนื่องมาจากความไม่รู้กฎหมายทั้งสิ้น
ดังนั้นในทางกฎหมายจึงเกิดหลักเกณฑ์สำคัญประการหนึ่งว่า “ความไม่รู้กฎหมายไม่เป็นข้อแก้ตัว” ทั้งนี้เป็นหลักที่สืบเนื่องมาจากนโยบายการใช้กฎหมายว่า บุคคลใดจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้หลุดพ้นจากความรับผิดตามกฎหมายมิได้ ทั้งนี้เพราะหากให้มีการกล่าวอ้างดังกล่าวได้ การบังคับใช้กฎหมายก็จะไม่เป็นการทั่วไปแก่คนทุกคน เพราะบางคนจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้พ้นผิดกันเสียหมด ก็คงไม่ต้องมีการรับโทษตามความรับผิดนั้น ยิ่งกว่านั้นถ้าหากให้แก้ตัวได้ก็จะยิ่งเป็นการส่งเสริมให้คนปิดหูปิดตาไม่ยอมรับรู้กฎหมาย เพราะถ้ายิ่งรู้มากก็ต้องผิดมาก ถ้ารู้น้อย ๆ ก็ไม่ต้องรับผิดเท่าไร
ฉะนั้นโดยหลักแล้วบุคคลจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้พ้นจากความรับผิดตามกฎหมายไม่ได้ เว้นแต่กฎหมายจะเปิดโอกาสให้กล่าวอ้างได้ ข้อยกเว้นเช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 64 ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้พ้นจากความรับผิดในทางอาญาไม่ได้ แต่ถ้าศาลเห็นว่าตามสภาพและพฤติการณ์ผู้กระทำความผิดอาจจะไม่รู้ว่า กฎหมายบัญญัติว่า การกระทำนั้นเป็นความผิด ศาลอาจอนุญาตให้แสดงพยานหลักฐานต่อศาล และถ้าศาลเชื่อว่าผู้กระทำไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติไว้เช่นนั้น ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้” จากบทบัญญัติมาตรานี้จะเห็นได้ว่ากฎหมายยอมรับรู้ข้อแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมาย แต่การยอมรับของกฎหมายนี้ยังไม่เด็ดขาดโดยสิ้นเชิง เพราะถ้าศาลเชื่อว่า ผู้นั้นไม่รู้ว่ามีกฎหมายนั้นจริง ๆ แล้ว ศาลเพียงแต่จะลงโทษให้น้อยลงเท่านั้นมิได้ยากเลิกการกระทำผิดนั้นให้สิ้นสภาพความผิดไป
จากที่ได้กล่าวมาแล้วตั้งแต่ต้น จึงอาจสรุปประโยชน์ของการศึกษาได้ดังนี้
1. ประโยชน์ในด้านการศึกษาทางสังคมศาสตร์ เพราะนิติศาสตร์เป็นการศึกษาด้านสังคมศาสตร์ที่เกี่ยวกับการกำหนดบทบาทและพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคม โดยมาตรการทางกฎหมาย
2. ประโยชน์อันเกิดจากการได้รู้สิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายเพราะเมื่อเราอยู่รวมกันเป็นสังคม การกำหนดขอบเขตความประพฤติของบุคคลให้อยู่ภายใต้กฎหมายข้อบังคับจึงมีความจำเป็น ทั้งนี้เพื่อความสงบสุข และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม
3. ประโยชน์จากการระวังตัวเองที่ไม่พลั้งพลาดกระทำผิดอันเนื่องมาจากหลักที่ว่า “ความไม่รู้ข้อกฎหมายไม่เป็นข้อแก้ตัว” เพราะถ้าทำผิดแล้วก็ต้องเกิดความรับผิดเสมอไป เว้นแต่กฎหมายจะเปิดโอกาสให้กล่าวอ้างข้อแก้ตัวได้ เฉพาะในบางกรณี
4. ประโยชน์ในทางวิชาชีพ ซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรง เพราะการประกอบอาชีพต่าง ๆ ก็ล้วนแต่อาศัยกฎหมายทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะกฎหมายเข้ามาเกี่ยวพันกับชีวิตของเราตลอดเวลา เช่น ทำการค้าต้องไปจดทะเบียนการค้า ต้องเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรต้องจ้างคนทำงานตามกฎหมายแรงงาน ดังนั้นประโยชน์ที่ได้จากการศึกษากฎหมายจึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการประกอบอาชีพ
5. ประโยชน์ในทางการเมืองการปกครอง เมื่อเราเป็นประเทศประชาธิปไตยสิทธิหน้าที่ของประชาชนจึงมีความสำคัญเป็นหัวใจของการปกครอง เมื่อประชาชนได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนครบถ้วนและใช้สิทธิต่าง ๆ ตามกฎหมายแล้ว ก็จะเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงของการปกครองและการบริหารงานทางการเมือง ให้สอดคล้องตาม

ความหมายของกฎหมาย









ความหมายของกฎหมาย
ปัจจุบัน แนวความคิดเรื่องกฎหมายธรรมชาตินั้นไม่เคยมีอิทธิพลสูงสุดอย่างเด็ดขาดเหนือ ความคิดเรื่องกฎหมายฝ่ายบ้านเมอง แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ว่าทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติจะไร้ประโยชน์เพราะเท่าที่ผ่านมา แนวความคิดเกี่ยวกับกฎหมายธรรมชาติได้มีอิทธิพลมากในสหรัฐอเมริกา ดังจะเห็นได้จากคำประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา เมื่อ ค.ศ. 1776 ซึ่งกล่าวถึงสิทธิโดยธรรมชาติ ในอันที่ จะแยกตัวเองออกเป็นรัฐอิสระ นอกจากนี้องค์การสหประชาชาติได้นำเรื่องสิทธิธรรมชาติไปเป็นหลักในการประกาศใช้ปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในปี ค.ศ.1948 ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าบรรดาผู้จัดทำกฎหมายฝ่ายบ้านเมือง ก็ได้พยายามจะนำคุณธรรมและคุณค่าทางจริยธรรมเข้ามาผสมผสานในกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งเป็นการผ่อนคลายความคิดในทางกฎหมายฝ่ายบ้านเมืองลง อันเป็นการสร้างประสิทธิภาพที่ดีให้แก่กฎหมายต่าง ๆ ที่นำมาประกาศใช้บังคับแก่ประชาชน
นอกจากนักปรัชญาทางกฎหมายของสองสำนักความคิดดังกล่าวที่ได้พยายามให้คำนิยามคำว่า “กฎหมาย” ก็ยังมีผู้ได้พยายามค้นหาคำตอบว่ากฎหมายคืออะไรอีกหลายท่าน อาทิเช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ซึ่งได้รับสมญาว่า พระบิดาแห่งกฎหมายไทย ทรงอธิบายไว้ว่า “กฎหมาย นั้นคือ คำสั่งทั้งหลายของผู้ปกครองว่าการแผ่นดินต่อราษฎรทั้งหลาย เมื่อไม่ทำตามแล้วตามธรรมดาต้องโทษ” นักกฎหมายคนอื่น ๆ ก็ได้อธิบายไว้ทำนองเดียวกัน คือ
ศาสตราจารย์หลวงจำรูญเนติศาสตร์ อธิบายว่า “กฎหมายได้แก่ กฎข้อบังคับว่าด้วย การปฏิบัติ ซึ่งผู้มีอำนาจของประเทศได้บัญญัติขึ้น และบังคับให้ผู้ที่อยู่ในสังกัดของประเทศนั้นถือปฏิบัติตาม”
ศาสตราจารย์เอกูต์ อธิบายว่า “กฎหมายเป็นคำสั่งหรือข้อห้ามซึ่งมนุษย์ต้องเคารพใน ความประพฤติต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อันมาจากรัฆฐาธิปัตย์หรือหมู่มนุษย์ มีลักษณะทั่วไปใช้บังคับได้เสมอไปและจำต้องปฏบัติตาม”
อย่างไรก็ดี ทุกนิยามความหมายข้างต้น ก็จะทำได้แต่เพียงการอธิบายความหมายที่ใกล้เคียงที่สุด ว่ากฎหมายคืออะไรเท่านั้น แต่ยังไม่เคยปรากฏเลยว่า มีผู้ใดสามารถให้คำตอบที่สมบูรณ์ถูกต้องที่สุดในข้อนี้ได้ ทั้งนี้เพราะแม้แต่ตัวกฎหมายเอง ก็เป็นอนิจจังอย่างหนึ่ง ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตามภาวการณ์และกาลสมัยของสังคม
สำหรับในที่นี้ ขออธิบายว่า กฎหมายนั้นมีความหมายหลายประการสุดแท้แต่จะถือเอาข้อใดเป็นสาระสำคัญ ถ้าถือเอาหน้าที่ของกฎหมายเป็นสาระสำคัญแล้ว กฎหมายย่อมหมายถึง กฎแห่งความประพฤติของมนุษย์ในสังคมซึ่งทำหน้าที่ควบคุมความประพฤติของมนุษย์และเป็นบรรทัดฐานความประพฤติ สำหรับมนุษย์รุ่นต่อ ๆ ไปในอันที่จะต้องปฏิบัติตาม แต่ถ้าถือเอาแหล่งหรือผู้ทำให้มีกฎหมายตามความเป็นจริงในสังคมเป็นหลักแล้ว กฎหมาย ย่อมหมายถึง คำสั่งของผู้เป็นใหญ่ในสังคมซึ่งมีอำนาจในการออกคำสั่งนั้นและ การละเมิดคำสั่งย่อมได้รับผลร้ายอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ อย่างไรก็ตามในการอธิบาย ณ ที่นี้ ขออธิบายตามลักษณะของกฎหมายโดยทั่วไป ซึ่งแบ่งออกได้ 4 ประการ คือ
(1) กฎหมายมีลักษณะเป็นคำสั่งคำบังคับมิใช่คำขอร้องวิงวอน หรือแถลงการณ์
(2) กฎหมายเป็นคำสั่งคำบังคับที่กำหนดขึ้นโดยผู้มีอำนาจในสังคม ซึ่งเรียกว่ารัฏฐาธิปัตย์
(3) กฎหมายเป็นคำสั่งคำบังคับที่ใช้บังคับ หรือให้เป็นที่ทราบแก่คนทั่วไป
(4) กฎหมายต้องมีสภาพบังคับแก่ผู้ฝ่าฝืน
รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้จะได้อธิบายต่อไปในตอนที่ 1.2

กฎหมายกับศีลธรรม
ศีลธรรม คือ ความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ว่าการกระทำอย่างไรเป็นการกระทำที่ชอบการกระทำอย่างไรเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ และแม้ว่ากฎหมายจะกำหนดข้อบังคับอันเป็นการควบคุมความประพฤติของมนุษย์เช่นเดียวกับศีลธรรมก็ตาม กฎหมายกับศีลธรรมก็ยังมีข้อแตกต่างกัน บางประการ กล่าวคือ
1. กฎหมายเป็นข้อบังคับที่กำหนดพฤติกรรมภายนอกของมนุษย์ ซึ่งหากเขาคิดร้ายอยู่ในใจกฎหมายก็ยังไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ศีลธรรมเป็นเรื่องความรู้สึกภายในใจของมนุษย์ ฉะนั้นแม้คิดไม่ชอบในใจก็ย่อมผิดศีลธรรมแล้ว
2. ศีลธรรมมีความมุ่งหมายสูงกว่ากฎหมาย เพราะศีลธรรมมุ่งหมายให้มนุษย์พร้อมบริบูรณ์ไปด้วยความดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ แต่กฎหมายมุ่งหมายเพียงดำรงไว้ซึ่งความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม ซึ่งเป็นผลจากทางการเท่านั้น
3. กฎหมายนั้น การฝ่าฝืนจะต้องได้รับผลร้ายโดยรัฐเป็นผู้กำหนดสภาพบังคับแต่ การฝ่าฝืนศีลธรรมย่อมมีผลสภาพบังคับเป็นลักษณะการกระทบกระเทือนจิตใจของผู้ฝ่าฝืน ซึ่งจะมีมากหรือน้อยนั้นแล้วแต่ความรู้สึกผิดชอบในแต่ละบุคคล
ระหว่างกฎหมายกับศีลธรรมนี้มีข้อที่น่าสังเกต กล่าวคือ บางกรณีศีลธรรมเรียกร้องให้มนุษย์ปฏิบัติมากกว่ากฎหมาย เช่น การเป็นนางบำเรอลักลอบได้เสียกับชายที่มีภรรยาแล้วไม่ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย แต่ถือว่าเป็นการผิดต่อศีลธรรมในสังคมไทย แต่ก็มีกรณีอื่นเช่นกันที่กฎหมายไปไกลกว่าศีลธรรม เช่น การไม่จัดทำบัตรประจำตัวประชาชนเมื่อมีอายุถึงกำหนด ย่อมเป็นความผิดตามกฎหมายแต่ไม่ผิดศีลธรรม เป็นต้น
กฎหมายกับจารีตประเพณี
จารีตประเพณี หมายถึง ระเบียบแบบแผนของความประพฤติที่มนุษย์ปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยมุ่งถึงสิ่งที่เป็นการกระทำภายนอกของมนุษย์เท่านั้น ซึ่งจารีตประเพณีนี้อาจจะเป็นการเฉพาะบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อาชีพใดอาชีพหนึ่ง เช่น ประเพณีการค้า หรือเฉพาะท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง ซึ่งสังคมหนึ่งอาจมีจารีตประเพณีที่แตกต่างจากจารีตประเพณีของอีกสังคมหนึ่งก็ได้
ด้วยเหตุที่จารีตประเพณีมุ่งคำนึงถึงพฤติกรรมภายนอกของมนุษย์อันกำหนดขอบเขตและยึดถือต่อ ๆ กันมา ซึ่งเหมือนกับกฎหมายในส่วนที่มุ่งควบคุมพฤติกรรมภายนอกของมนุษย์เช่นกัน แต่ทั้งนี้ก็มีข้อแตกต่างในสาระสำคัญบางประการ กล่าวคือ
1. กฎหมายนั้นรัฐจะเป็นผู้มีอำนาจบัญญัติขึ้นใช้บังคับ แต่จารีตประเพณีนั้นประชาชนอาจจะเป็นชนชั้นใดชั้นหนึ่งเป็นผู้กำหนดขึ้นก็ได้
2. การกระทำที่ผิดกฎหมายย่อมรับผลร้าย คือ การลงโทษตามกฎหมาย แต่ถ้ากระทำผิดจารีตประเพณีผลร้ายที่ได้รับคือ การถูกติเตียนจากสังคม
อย่างไรก็ตาม จารีตประเพณีก็เป็นกฎหมายได้ในบางสังคม เช่น ในกลุ่มประเทศที่อยู่ในระบบกฎหมายไม่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือระบบกฎหมายคอมมอนลอว์ (Common Law) ต่างถือเอาจารีตประเพณีเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายบ้านเมือง แม้ในประเทศไทยเองก็ยอมรับจารีตประเพณีบางเรื่อง ในบางโอกาส โดยถือว่าอาจใช้เป็นกฎหมายได้ในลำดับรองลงมาจากกฎหมายลายลักษณ์อักษร ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป